ในปัจจุบันมีเด็กที่ถูกทำร้ายทั้งทางร่างกายและทางจิตใจเพิ่มมากขึ้นทุกวัน โดยเราเรียกการกระทำเช่นนี้ว่าการทารุณกรรมเด็ก (Child Abuse or Child Maltreatment) ซึ่งหมายถึงการกระทำที่ก่อให้เกิดความบาดเจ็บและเป็นอันตรายแก่เด็ก ทั้งทางร่างกายและจิตใจ อันได้แก่

         1. การทอดทิ้งเด็ก เด็กๆ ทุกคนต้องการการดูแลที่ดีจากพ่อแม่และผู้ปกครองในทางกายภาพ เช่น อาหารที่ครบ 5 หมู่ ที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมที่มีความสะอาดปลอดภัย เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม และยิ่งไปกว่านั้นเด็กๆ ทุกคนต่างก็ต้องการความรักและความเอาใจใส่จากพ่อแม่ เป็นอย่างมาก เด็กที่ได้รับการดูแลที่ดีจะเติบโตขึ้นอย่างมีความสุขและมีพัฒนาการที่ดี สมวัย แต่ในทางตรงกันข้าม เด็กๆ ที่ถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่ที่ดีทั้งในด้านกายภาพและทาง ด้านจิตใจ จะเป็นเด็กที่มีพัฒนาการทางด้านร่างกายที่ไม่แข็งแรง อาจเป็นโรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกิดจากภาวะทุพโภชนาการ ส่วนทางด้านอารมณ์และจิตใจนั้น เด็กที่ถูกทอดทิ้งมักจะแสดงออกถึงพฤติกรรมที่ไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ไม่ว่าจะมีพฤติกรรมทางเพศที่ไม่เหมาะสม เช่น การมีเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควร การทำแท้ง หรือพฤติกรรมการติดสิ่งเสพติดต่างๆ เช่น ติดเหล้า เมายา ติดบุหรี่

 

          2. การทำร้ายร่างกายเด็ก เวลาที่พ่อแม่ผู้ปกครองบางคนโกรธ อารมณ์เสียหรือไม่พอใจสิ่งใด ก็มักมาลงอารมณ์กับเด็กด้วยการทำรุนแรง เช่น ตบ ตี เตะ ต่อย ขว้างปาสิ่งของใส่ ด่าว่า ตะคอกด่าว่าเด็กด้วยถ้อยคำรุนแรงหยาบคาย ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่สร้างบาดแผลในใจเด็กทั้งสิ้น อีกทั้งอาจส่งผลให้เด็กซึมซับเอาพฤติกรรมเหล่านี้มาจนกลายเป็นคนมีนิสัยเป็น นักเลง ก้าวร้าว โมโหร้าย และนิยมแก้ปัญหาด้วยวิธีการรุนแรงเหมือนที่เขาได้รับการปฏิบัติจากพ่อแม่นั่นเอง

          3. การล่วงละเมิดทางเพศเด็ก ได้แก่ การลวนลามด้วยคำพูดหรือการกระทำการทำอนาจาร และการกระทำชำเราเด็ก ซึ่งปัจจุบันนี้ ไทยกำลังเผชิญวิกฤตปัญหาในเรื่องนี้อย่างรุนแรง ซึ่งเป็นเรื่องที่โหดร้ายเลวทรามและได้รับการประณามจากสังคมเป็นอย่างมาก และสิ่งที่ไม่น่าเชื่อก็คือมีข้อมูลจากทางกระทรวงสาธารณสุข เผยว่า ในปัจจุบันประเทศไทย มีสถิติของการกระทำความรุนแรงต่อเด็กและผู้หญิงเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยจากสถิติพบว่าเด็กมีการถูกล่วงละเมิดทางเพศ ร้อยละ 72 ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่สูงมาก ซึ่งเรื่องที่น่ากลัวยิ่งไปกว่านั้นก็คือ เด็กมักถูกล่วงละเมิดทางเพศจากคนใกล้ชิด เช่น พ่อแท้ๆ ของตน ปู่ ตา ญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน ครู

 

          วิธีแก้ไข      

          1. เปลี่ยนสิ่งแวดล้อมให้เด็ก เช่น ถ้าอยู่กับพ่อแม่ที่ชอบเมาเหล้าเมายา หรือนิยมกระทำความรุนแรงต่อเด็ก หรืออยู่ในสภาพแวดลัอมที่มีแต่ความเสื่อมโทรมเต็มไปด้วยอบายมุขนานาชนิด ผู้ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก เจ้าหน้าที่รัฐ หรือบุคลากรที่เกี่ยวข้องในพื้นที่นั้นๆ ควรนำเด็กแยกออกจากที่อยู่อาศัยสภาพแวดล้อมเดิมไปสู่สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น

          2. ให้ความช่วยเหลือโดยตรงแก่เด็ก เช่น หากเด็กที่ถูกทอดทิ้งขาดปัจจัย 4 ก็ต้องช่วยเหลือและเติมเต็มสิ่งที่ขาดเหล่านั้นให้แก่เด็ก ได้แก่ ให้อาหารที่ครบ 5 หมู่ ให้เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่สะอาด ให้ที่อยู่อาศัยที่มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น และดูแลรักษาให้เด็กมีสุขภาพกายใจที่ดี โดยการเยียวยาร่างกายและจิตใจของเด็กที่บอบช้ำให้มีความสุขมากกว่าเดิม

          3. บุคลากรในพื้นที่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ หน่วยงานเด็กที่เกี่ยวข้อง ร่วมมือประสานกับแพทย์ นักจิตวิทยา จิตแพทย์เด็ก ในการช่วยบำบัดเยียวยาเด็กที่ถูกทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ เพื่อประคับประคองให้เด็กมีสภาพร่างกายและจิตใจที่ดีขึ้นจนพร้อมที่จะกลับ คืนสู่สังคมได้อย่างคนที่เข้มแข็งและมั่นใจต่อไป

          แม้ว่าปัญหาเรื่องการทำร้ายหรือทารุณกรรมเด็กจะไม่มีวันหมดไปจากสังคมไทย แต่ในฐานะที่เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคม จึงมีหน้าที่ในการช่วยดูแลสอดส่อง โดยถ้าพบเห็นเด็กๆ ที่ถูกทอดทิ้งหรือถูกทารุณในรูปแบบใดก็ตาม เราไม่ควรจะปล่อยให้เลยผ่านไปโดยคิดว่าไม่ใช่ธุระของเรา แต่สิ่งที่ควรทำคือการแจ้งกับเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้าไปจัดการช่วยเหลือเด็กๆ ที่ถูกทำร้ายโดยด่วน เพราะเด็กๆ เหล่านั้นล้วนเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยและเป็นอนาคตที่เราควรช่วยดูแลให้เขาเติบใหญ่อย่างงดงาม

 

 

          ที่มา : ASTVผู้จัดการออนไลน์ โดย ดร.แพง ชินพงศ์  

http://www.thaihealth.or.th/