ปัจจุบันการรักษาโรคซึมเศร้าได้ผลดีมาก โดยการใช้ ยาต้านอารมณ์เศร้า(Antidepressants) ซึ่งมีหลายชนิด เราพบว่าผู้ป่วยแต่ละรายมักได้ผลยาแต่ละชนิดแตกต่างกัน ซึ่งแพทย์จะเริ่มต้นให้ยาในขนาดน้อยๆ แล้วพิจารณาปรับเพิ่มขนาดยาจนถึงระดับที่ออกฤทธิ์ได้ผล ซึ่งมักใช้ระยะเวลาประมาณ 4-6 สัปดาห์ หากไม่ได้ผลแพทย์จะพิจารณาเปลี่ยนยา เพราะฉะนั้นผู้ป่วยควรรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง

          นอกจากการกินยาแล้ว จิตแพทย์จะให้การบำบัดด้วยการ "ปรับความคิดเปลี่ยนพฤติกรรม" (CognitiveBehavioral Therapy) เพื่อให้ผู้ป่วยมีมุมมองทางบวกต่อตนเองและโลกภายนอก เห็นทางออกของปัญหา และตระหนักถึงศักยภาพของตนเองในการเผชิญเรื่องท้าทายของชีวิต รวมทั้งการปรับเปลี่ยน รูปแบบในการดำเนินชีวิต (Life style) เพื่อสร้างความรื่นร มย์และความเบิกบานให้แก่ชีวิต

          ในกรณีที่อารมณ์เศร้าเป็นรุนแรงมาก (เช่น มีความเสี่ยงสูงที่จะทำร้ายตนเอง) หรือมีอาการโรคจิตร่วมด้วย (เช่น ระแวง หูแว่ว ประสาทหลอน) จิตแพทย์จะรับไว้รักษาตัวในโรงพยาบาล โดยมีญาติดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

          กรณีที่กินยาจนอาการเศร้าดีขึ้นแล้ว ไม่ควรหยุดยาเอง เพราะอาจทำให้อาการเศร้ากำเริบได้ แพทย์จะพิจารณาให้ ผู้ป่วยกินยา (ในขนาดต่ำที่สุด) อย่างต่อเนื่องเป็นปีจนสามารถหยุดยาได้ในที่สุด

          ความช่วยเหลือจากญาติ

          - รับฟัง เปิดโอกาสให้ผู้ป่วยระบายความทุกข์ใจ เข้าใจและยอมรับโดยไม่มีการตอกย้ำซ้ำเติม

          - ชักจูงให้ผู้ป่วยร่วมกิจกรรมที่สนุกสนานหรือท่องเที่ยวสถานที่ธรรมชาติ

          - ดูแลให้ผู้ป่วยกินยาตามเวลาอย่างสม่ำเสมอ

          - รายงานแพทย์ทันที หากพบว่า ผู้ป่วยมีความคิดอยากทำร้ายตนเอง

 

 

 

          ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง โดย นพ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

http://www.thaihealth.or.th/