ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการระบาด จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา ศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างการนอนหลับ และโรคอ้วนในเด็กวัยเรียน พบว่า เด็กที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน มีแนวโน้มเป็นโรคอ้วน และเบาหวานมากกว่าเพื่อนที่นอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน สหรัฐอเมริกา

          ชา กีรา ซูเกลีย ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาการระบาด จากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย สหรัฐอเมริกา ศึกษาความเชื่อมโยงระหว่างการนอนหลับ และโรคอ้วนในเด็กวัยเรียน ผ่านการทดสอบกับวัยโจ๋ อายุ 16 ปี จำนวน 10,000 คน โดยบันทึกระยะเวลาในการนอนหลับแต่ละวัน

          จากนั้นนำไปเปรียบเทียบกับน้ำหนักในช่วงทดสอบ และเมื่อเด็กอายุครบ 21 ปี พบว่า เด็กที่นอนน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน มีแนวโน้มเป็นโรคอ้วน และเบาหวานมากกว่าเพื่อนที่นอนอย่างน้อย 8 ชั่วโมงต่อวัน ถึงร้อยละ 20 ซ้ำร้าย เด็กที่ชอบอดนอน และนอนน้อยยังมีโอกาสน้ำหนักมากกว่าเกณฑ์เมื่ออายุ 21 ปี ถึงเท่าตัว

          นักวิจัยอธิบายว่า เมื่อร่างกายอ่อนเพลียเพราะพักผ่อนไม่เพียงพอ จะส่งผลให้ขาดความกระปรี้กระเปร่า เด็กๆ ในกลุ่มนอนน้อยจึงชอบกินของหวานที่ช่วยกระตุ้นความตื่นตัว รวมถึงอาหารที่อุดมไปด้วยแป้ง และไขมันสำหรับเพิ่มพลังงาน ยิ่งนอนดึกก็ยิ่งหิว ยิ่งกินก็ยิ่งอ้วน และตามมาด้วยโรคร้ายในที่สุด

 

 

          ที่มา : ข่าวสดออนไลน์

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

http://www.thaihealth.or.th/