สมองเป็นอวัยวะสำคัญที่มีผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของมนุษย์ แต่เมื่ออายุมากขึ้น สมองย่อมมีการเสื่อมถอยไปตามวัย ทำให้ประสิทธิภาพในการคิด จำ และทำสิ่งต่างๆ ลดน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น

 

การดูแลสมองให้มีสุขภาพดีตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดโอกาสเป็น "โรคอัลไซเมอร์" ในวัยชรา ซึ่งพบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มอายุ 60 ปีขึ้นไป หากไม่อยากเป็นอัลไซเมอร์ จึงควรหาวิธีป้องกัน ดังนี้

          1. ออกกำลังกายสม่ำเสมอวันละ 30 นาที แนะนำให้เต้นแอโรบิก เพราะช่วยให้เลือดไปเลี้ยงสมองดีขึ้น และกระตุ้นการทำงานของเซลล์สมอง หรือเสริมกำลังกล้ามเนื้อ หรือสร้างสมดุลของร่างกาย เช่น รำมวยจีน โยคะ และการยืนขาเดียว เป็นต้น

          2. กินอาหารเสริมสุขภาพสมอง ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมัน คอเลสเตอรอลสูง และควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ จะช่วยลดความเสี่ยงอัลไซเมอร์ 2-6 เท่า ควรปรุงอาหารแบบอบหรือย่างแทนการทอด ใช้น้ำมันที่ไม่เป็นโทษต่อร่างกาย เช่น น้ำมันมะกอก กินผักผลไม้ที่มีสารแอนตี้ออกซิแดนท์สูง ได้แก่ ผักผลไม้ที่มีเปลือกสีเข้ม เช่น กะหล่ำปลีสีเขียวเข้ม ผักโขม บร็อกโคลี่ หัวหอม ข้าวโพด มะเขือยาวสีม่วงเข้ม พืชตระกูลถั่ว ลูกพรุน เบอรี่ต่างๆ ส้ม และองุ่นแดง และอาหารมีกรดไขมันโอเมก้า 3 สูง เช่น ปลาทู เครื่องเทศ เช่น พริก กระเทียม ขิง ขมิ้น กานพลู เป็นต้น

          3. มีกิจกรรมทางสังคมสม่ำเสมอ เช่น การเข้าร่วมกิจกรรมในชมรมต่างๆ หรือการร่วมกิจกรรมอาสาสมัคร หรือแม้แต่การท่องเที่ยว

          4. รักษาสุขภาพใจ ภาวะจิตตกจะส่งผลต่อการสื่อสารระหว่างเซลล์ประสาท ไม่ควรเครียด หรือทำตัวเศร้าหมอง ควรฝึกทำสมาธิ

          5. มีหัวใจที่แข็งแรง หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ยืนยันว่า การมีหัวใจที่แข็งแรงสัมพันธ์กับการมีสุขภาพสมองที่แข็งแรงด้วย เนื่องจากร้อยละ 20 ของเลือดที่สูบฉีดออกจากหัวใจจะไปเลี้ยงสมอง ควบคุมระดับน้ำตาลและไขมันในเลือด รักษาความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ควรงดสูบบุหรี่

          6. รักษาตัวเลขต่างๆ ของชีวิตให้เหมาะสม ได้แก่ ความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด ระดับไขมันคอเลสเตอรอลในเลือด และน้ำหนักตัว หมั่นตรวจสุขภาพ หรือพบแพทย์เป็นประจำ

          7. ฝึกสมอง เช่น เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เขียนหรืออ่านหนังสือ เล่นทายคำหรือปริศนาคำ ต่อภาพจิ๊กซอว์ เกมจับคู่ ฟังสัมมนา ชมการแสดง ลงเรียนคอร์สต่างๆ หรือโรงเรียนผู้ใหญ่ เล่นเกม ตกแต่งสวน

 

 

          ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน โดย ศ.พญ.นันทิกา ทวิชาชาติ ฝ่ายจิตเวชศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

http://www.thaihealth.or.th/