สูงวัยไม่ไร้ค่า หมายถึง ผู้มีอายุ 60 ปีขึ้น มีสุขภาพกายแข็งแรง สุขภาพจิตดี สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ไม่เป็นภาระต่อผู้อื่น มีความรู้ความสามารถบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น สังคมและประเทศชาติ

          การที่จะเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณค่านั้น จะต้องเตรียมการตั้งแต่วัยหนุ่มสาว มีเป้าหมายในการดำเนินชีวิต มีแผนในการปฏิบัติและปฏิบัติตามแผน เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยมีแนวทางในการปฏิบัติดังนี้

 

1. การมีสุขภาพจิตที่ดี

          การจะมีสุขภาพจิตที่ดี จะต้องมีปัจจัยเหล่านี้

          1.1 มีสุขภาพดี ไม่มีโรคเรื้อรัง

          1.2 มีหน้าที่การงานมั่นคง งานที่ทำเป็นงานที่สุจริต มีเกียรติและศักดิ์ศรี เป็นงานที่ทำแล้วมีความสุข

          1.3 มีฐานะการเงินที่มั่นคง เงินที่ได้มาจะต้องเป็นเงินที่ได้มาโดยถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ผิดศีลธรรม

          1.4 มีคุณธรรม ซื่อสัตย์

          คนเราถ้าทำสิ่งที่ไมถูกต้อง ผิดกฎหมายหรือผิดศีลธรรมอันดีงาม ถึงแม้ผู้อื่นไม่ทราบแต่ตัวเองทราบ ในจิตใจจะมีความทุกข์กลัวผู้อื่นจะทราบก็จะหาความสุขทางใจไม่ได้ นอกจากการบุคคลที่ไม่มีหิริโอตตัปปะ คือ บุคคลที่ไม่มีความละอายใจ ไม่มีความเกรงกลัวต่อบาป ก็จะไม่รู้สึกเป็นทุกข์

 

          1.5 รู้จักคิด

          การคิดให้เป็นเป็นสิ่งสำคัญ การจะมีความสุขหรือประสบความสำเร็จในชีวิตอยู่ที่การคิดเป็น การคิดเป็น เป็นการคิดที่มีเป้าหมาย ทิศทาง ความคิด มีแผนในการปฏิบัติและนำไปปฏิบัติเพื่อไปสู่เป้าหมายที่คิดไว้ ไม่คิดเปะปะ เรื่อยเปื่อย ซ้ำซาก ต้องคิดก่อนทำ อยากมีสุขภาพจิตดีต้องมีสติ คิดในด้านดีๆ มีความสุข มีความหวัง ไม่คิดสิ้นหวัง ท้อแท้ คิดสู้ ไม่คิดหนี

          คิดภูมิใจและพอใจตัวเรา อย่าคิดว่าตัวเองไร้ค่า คิดให้รู้จักพอ อย่าคิดทำในสิ่งที่เกินความสามารถของเรา โดยประเมินศักยภาพของตัวเรา คิดถึงปัจจุบัน คิดทำเรื่องปัจจุบันให้ดีที่สุด อย่าคิดกลัวอนาคต คิดถึงอนาคตเป็นการคิดเผื่อเพื่อวางแผนไปสู่เป้าหมาย อย่าคิดย้อนอดีต อย่านำเหตุการณ์ในอดีตที่ผิดพลาดหรือผิดหวังไปเป็นทุกข์ คิดถึงเหตุการณ์ในอดีตเป็นเพียงบทเรียน นำสิ่งดีๆ ในอดีตที่ทำให้ชีวิตประสบความสำเร็จไปใช้ในการดำเนินชีวิต สิ่งที่ทำให้เกิดความผิดพลาดอย่าทำผิดซ้ำอีก

          1.6 รู้จักปรับตัว

          การรู้จักปรับตัวเข้ากับผู้อื่นหรือผู้ที่เราอยู่ด้วย ทำให้เราสามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข รู้จักเรียนรู้จิตใจนิสัยผู้ที่เราอยู่ด้วย มีความเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น รู้จักให้เกียรติ รู้จักรัก และรู้จักให้ผู้อื่นก่อน เป็นผู้ให้อย่าเป็นผู้ขอ ไม่เอาเปรียบผู้อื่น อย่าเป็นผู้สร้างปัญหากับผู้ที่เราอยู่ด้วยหรือองค์กรที่ราอยู่ด้วย ทำตัวให้เป็นประโยชน์กับองค์กรหรือผู้ที่เราอยู่ด้วย ทำตัวให้เป็นคนอยู่ง่ายๆ และกินง่าย อย่าเอาความคิดความต้องการตัวเองเป็นหลัก ต้องยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นหรือทีมงาน ให้เขามีส่วนร่วม เป็นคนยืดหยุ่น แต่ไม่โลเล ต้องมีจุดยืนของตัวเอง อย่าคิดหรืออย่าคาดหวังว่าจะสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหรือความคิดของผู้อื่นได้ เป็นสิ่งที่ทำได้ยาก อยู่ที่ตัวเขาเองจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของเขาเอง

 

          1.7 รู้จักบริหารจัดการกับความเครียด

          ความเครียดเป็นอาการที่ผู้มีความเครียด มีความรู้สึกไม่สบายใจ หงุดหงิด อารมณ์ไม่ดี เบื่อหน่าย ท้อแท้ ขาดสมาธิ ประสิทธิภาพในการทำงานถดถอยบางรายมีอาการทางกาย เช่น ปวดศีรษะ ใจสั่น นอนไม่หลับ

          สาเหตุของความเครียดเกิดจาก ความกลัว ความวิตกกังวล การไม่กล้าตัดสินใจ มีความขัดแย้งทางจิตใจ ความเครียดที่เกิดจากความห่วงใยวิตกกังวลที่มีอาการไม่มาก เกิดเป็นครั้งคราวไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำ และไม่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติงาน สามารถพบได้ในคนปกติทั่วไป ความเครียดที่ไม่มากกลับเป็นสิ่งที่ดี ทำให้เราเกิดการตื่นตัว มีการเตรียมตัว มีความรอบครอบ มีความระมัดระวัง เพื่อเตรียมตัวสู้กับปัญหาที่จะเกิดขึ้นความเครียดถ้ามีมากไปและมีประจำ เป็นสิ่งไม่ดีเป็นบ่อเกิดของโรคมากมาย ทั้งโรคทางจิตเวช และโรคทางกาย

 

 

          ที่มา :  หนังสือพิมบ้านเมือง  โดย น.พ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์ ข้อมูลจาก น.พ.ปรีชา ศตวรรษธำรง อดีตผู้อำนวยการ สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา รองประธาน มูลนิธิโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

http://www.thaihealth.or.th/