วิตามิน K (เค) ช่วยในการแข็งตัวของเลือด ถ้าขาดวิตามินเคจะทำให้เลือดออกได้ง่าย

 

  โดยทั่วไปทารกที่กินนมมารดา ในนมมารดาจะมีวิตามินเคเพียงพอกับทารกที่ปกติ วิตามินเคในนมมารดาจะน้อยกว่าในนมผสม และจะน้อยในช่วง 2-4 สัปดาห์แรก ในเด็กแรกเกิดจึงมีโอกาสเสี่ยงต่อเลือดออก เช่น ออกในสมอง ที่เรียกว่า hemorrhagic disease of newborn ดังนั้น ในเด็กแรกเกิดในประเทศไทยทุกคน จะได้รับ วิตามินเคขนาด 1 มิลลิกรัม ฉีดเข้ากล้ามเนื้อ เพื่อป้องกันการเกิดอาการดังกล่าว

          เด็กบางคนอาจจะเสี่ยงต่อการขาดวิตามิน เคได้โดยเฉพาะเด็กที่กินนมมารดาและมารดากินยาดองเหล้า ในยาใช้ดองเหล้าใส่สมุนไพร ในสมุนไพรบางชนิดจะมีสารต้านวิตามินเค ดังนั้น มารดาจึงไม่ควรกินยาดองเหล้าอย่างยิ่ง อีกกลุ่มหนึ่งที่เสี่ยงต่อการขาดวิตามินเค คือ เด็กที่เป็นโรคตับ จะสร้างสารที่เกี่ยวกับการ แข็งตัวของเลือด ที่ต้องใช้วิตามินเคได้น้อย เด็กที่ตัวเหลือง ตาเหลือง ทารกโรคตับต้องเสริม วิตามินเค

          นอกจากนี้ ทารกที่ได้รับยาปฏิชีวนะยาจะไปทำลายแบคทีเรียในลำไส้ การสร้างวิตามิน เค จากแบคทีเรียในลำไส้ได้น้อยลง (โดยปกติ แบคทีเรียในลำไส้ช่วยสร้างวิตามินเค) ดังนั้น อาจทำให้ทารกมีเลือดออกเกิดขึ้นได้ เช่น ออกในทางเดินอาหาร ออกที่สมอง มารดาที่ระหว่างให้นมบุตร ไม่ควรงดอาหารใดๆ โดยทั่วไปอาการแพ้ที่เกิดขึ้นในเด็ก เช่น ผื่น ไม่เกี่ยวกับอาหารที่มารดากิน จากการศึกษาพบว่า มารดาที่กินอาหารที่มีวิตามินเคสูง หรือเสริมวิตามิน เค น้ำนมจะมีวิตามินเคสูงขึ้นด้วย อาหารที่มี วิตามินเคสูง ที่มารดาควรได้รับ คือ ผักใบเขียว ไข่ ตับ เนื้อสัตว์ เป็นต้น

          เมื่อรู้แบบนี้แล้ว หวังว่าอาการเลือดออกในทารกที่ขาดวิตามินเค ในประเทศไทย จะไม่มีนะครับ

 

 

          ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน โดย ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

http://www.thaihealth.or.th