โรคหวัดส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส ติดต่อกันผ่านทางลมหายใจ และสารคัดหลั่ง เช่น น้ำมูก น้ำลาย แต่สำหรับโรคหวัดเรื้อรัง มักมีสาเหตุจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งเชื้อทั้ง 2 ชนิดนี้จะแสดงอาการที่ต่างๆ กันเล็กน้อยเท่านั้น

          อาจารย์ น.พ.เจตน์ ลำยองเสถียร ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เล่าว่า โดยทั่วไป "ไข้หวัด" เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งสามารถหายเองได้ แต่ถ้ามีอาการนานกว่า 5-10 วัน อาจเป็นหวัดเรื้อรัง เนื่องจากมีการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณโพรงจมูกและไซนัสได้ ซึ่งผู้ป่วยมักจะมีน้ำมูกข้นสีเขียวปนเหลือง มีอาการคัดจมูกและปวดตึงใบหน้า ความสามารถในการรับกลิ่นลดลง อาจตรวจพบต่อมน้ำเหลืองบริเวณลำคออักเสบ และเมื่อกดจะรู้สึกเจ็บ

          การรักษาในเบื้องต้น ผู้ป่วยจะได้รับยาปฏิชีวนะ หรือยาแก้อักเสบ ซึ่งต้องได้รับในขนาดและปริมาณที่เหมาะสม หากผู้รับประทานยาไม่ครบตามกำหนดจะส่งผลเสียต่อร่างกาย เพราะนอกจากอาการจะไม่ดีขึ้นแล้วการใช้ยาปฏิชีวนะที่มากเกินไปก็มีผลทำให้เชื้อดื้อยา ดังนั้นการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะต้องอยู่ในการควบคุมของแพทย์ ถ้าปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างถูกต้องส่วนใหญ่อาการของหวัดเรื้อรังที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียจะหายดี

          แต่ถ้าการอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียบริเวณโพรงจมูกและไซนัสไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยการใช้ยาเพียงอย่างเดียว แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยการเจาะล้างไซนัสหรือการผ่าตัดด้วย ซึ่งการผ่าตัดไซนัสในปัจจุบันส่วนใหญ่สามารถทำได้ด้วยการส่องกล้องผ่านโพรงจมูกโดยไม่ต้องเปิดแผลผ่าตัดจากภายนอก ช่วยลดความเจ็บปวดหลังผ่าตัด และผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้เร็วขึ้น

          ท้ายนี้ขอฝากเคล็ดลับการดูแลสุขภาพให้ห่างไกลจากหวัดเรื้อรัง ด้วยการออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อสร้างภูมิต้านทานโรคให้กับตนเอง

 

 

          ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง โดย น.พ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

http://www.thaihealth.or.th/