เชื่อเถอะว่า สาวๆ คนไหน ก็ไม่อยากแก่ก่อนวัยอันควร หลายคนงัดสารวิธีต่างๆ มาชะลอความแก่ โดยหลงลืมไปว่าการดูแลตัวเองนั้นสำคัญที่สุด

 

วันนี้ "แนวหน้าออนไลน์" จะพาไปรู้จักวิธีการดูแลร่างกายอย่างไรให้ห่างไกลความแก่ วิธีง่ายๆ ที่ไม่ต้องพึ่งยา อาหารเสริม หรือคอร์สความงามราคาแพง และวิธีง่ายๆ ที่จะนำเสนอต่อไปนี้ นอกจากจะช่วยชะลอความแก่แล้ว ยังเสริมสร้างร่างกายของคุณให้สมดุลขึ้นอีกด้วย

ก่อนอื่นเราไปทำความรู้จักว่า "สารอนุมูลอิสระ" คืออะไร

สารอนุมูลอิสระ คือ ตัวทำลายภูมิคุ้มกันและเซลล์ต่างๆ ทำให้เกิดการเสื่อมถอยของร่างกาย ซึ่งจะแสดงออกมาในรูปแบบของ ริ้วรอย แก่ก่อนวัย และโรคความเสื่อมของอวัยวะต่างๆ ที่หนักสุด คือ การก่อตัวเป็นเนื้อร้าย หรือ เซลล์มะเร็งนั้นเอง

หลังจากรู้จักสารอนุมูลอิสระกันไปแล้ว คราวนี้เราไปเรียนรู้วิธีดูแลร่างกายกัน

1.กิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวัน การออกกำลังกายเป็นตัวช่วยที่ดีในการต้านอนุมูลอิสระ แต่ถ้าเราหักโหมมากเกินไปจะทำให้เกิดผลตรงข้าม คุณควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ต้องแรงมาก เช่น การออกกำลังกายหักโหมจนเกิดอาการเหนื่อยหอบ การยกน้ำหนักที่ไม่พอดีกับร่างกาย

2.การทานอาหาร หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงและทำให้เกิดการเผาผลาญพลังงานมากอย่างเช่น ของทอด อาหารกลุ่มไขมันชนิดอิ่มตัว ไขมันทรานซ์ คาร์โบไฮเดรต และอาหารประเภทโปรตีนที่ให้แคลอรีสูง หรืออาหารที่มีอนุมูลอิสระสูง เช่น ของปิ้งย่าง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์

3.สภาวะแวดล้อม หลีกเลี่ยงมลภาวะและสารเคมี นอกจากมลพิษทางอากาศ เช่น ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และคาร์บอนมอนออกไซด์ ที่เราหายใจเข้าไปแล้ว สารเคมีที่ปลอมปนอยู่ในอาหาร เช่น ยาฆ่าแมลง ผงชูรส สีสังเคราะห์ ยังเป็นตัวการสำคัญที่ทำให้อนุมูลอิสระในร่างกายเพิ่มสูงขึ้น แม้กระทั่งแสงแดดที่เราต้องเจอทุกวันก็ส่งผลให้เกิดอนุมูลอิสระบริเวณผิวหนัง เพราะผิวหนังเป็นด่านแรกที่รับแสงนั่นเอง

4.ความเครียด สมองเป็นอวัยวะที่ผลิตอนุมูลอิสระสูง เนื่องจากการทำงานหนักและมีการเผาผลาญ พลังงานมาก เมื่อเกิดความเครียดร่างกายจะหลั่งสารเคมีบริเวณสมองส่วนที่เกี่ยวกับอารมณ์ ความรู้สึก ซึ่งทำให้เกิดสารอนุมูลอิสระเพิ่มมากขึ้น มีงานวิจัยของ ดร.ริชาร์ด เดวิดสัน จากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน สหรัฐอเมริกา ซึ่งเก็บข้อมูลจากพระลามะ ทิเบต พบว่า การนั่งสมาธิแบบพุทธมหายาน ช่วยลดความเครียดและเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระให้แก่ร่างกายได้ เพราะการนั่งสมาธิจะช่วยให้หายใจช้าลง สม่ำเสมอ ทำให้เกิดปฏิกิริยาออกซิเดชั่นน้อยลง ร่างกายจะหลั่งโกรทฮอร์โมนเพิ่มขึ้น ซึ่งเจ้าฮอร์โมนตัวนี้จะช่วยต้านอนุมูลอิสระอีกด้วย

5.การพักผ่อน การพักผ่อนหรือการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ เพราะการนอนหลับจะช่วยให้อวัยวะส่วนใหญ่ได้หยุดพักและช่วยให้อวัยวะที่ต้องทำงาน ตลอดเวลา เช่น หัวใจ ปอด และสมอง ได้ใช้พลังงานน้อยลง ซึ่งเป็นการลดการเกิดอนุมูลอิสระได้ทางหนึ่ง ดังนั้นหากพักผ่อนน้อย ร่างกายจึงต้องทำงานอย่างหนักเพื่อผลิตพลังงานและทำให้เกิดอนุมูลอิสระมากตามไปด้วย

 

 

ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต