รู้กันมานานแล้วว่า สัตว์เลี้ยงเป็นครูและพี่เลี้ยงชั้นดีของเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก
สัตว์เลี้ยงดังกล่าวเป็นสัตว์ทั่วไป แต่ส่วนใหญ่แล้วหมาและแมวมีบทบาทมากที่สุด การเป็นครูและพี่เลี้ยงเด็ก ไม่ได้พูดกันลอยๆ เป็นข้อมูลจากการศึกษาวิจัยของผู้เชี่ยวชาญ หลายท่านรู้ว่าเจ้าตูบและหนูเหมียว รวมทั้งสัตว์เลี้ยงอื่น ช่วยสอนเด็กด้านไหนบ้าง
เอาเป็นว่ามาทบทวนประ เด็นน่าสนใจกันอีกครั้งก็แล้วกัน เริ่มจากการช่วยให้เด็กมีอีคิว (EQ) หรือคุณภาพทางอารมณ์ดี เป็นคนเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น มีงานวิจัยหลายโครงการ รวมทั้งงานวิจัยของโรเบิร์ต พอร์สกี้ นักจิตวิทยา มหาวิทยาลัย Kansas State University แห่งสหรัฐ ที่ยืนยันเรื่องนี้ งานวิจัยบอกว่า การที่เด็กเห็นสุนัขวิ่งไปที่ประตูแล้วรู้ว่ามันต้องการออกไปข้างนอก จึงช่วยเปิดประตูให้ นั่นแหละคือสิ่งที่หมาสอนเด็กเรื่องอีคิว
ประเด็นต่อไปคือ สัตว์เลี้ยงสอนให้เด็กรู้จักรับผิดชอบและมีความเชื่อมั่นในตัวเอง วิธีการคือใช้เด็กให้อาหารสัตว์ เทอาหารเม็ดใส่ชามให้สัตว์ และให้พาเจ้าตูบไปเดินเล่นตามลำพัง โดยไม่มีผู้ใหญ่เดินไปด้วย เป็นแผนการสอนให้เด็กรู้จักรับผิดชอบโดยอัตโนมัติ
ทีเด็ดอีกอย่าง คือช่วยลดความเครียด โดยสถาบัน National Childhood Grief Institute แห่งสหรัฐ พิสูจน์เรื่องนี้ด้วยการส่งสุนัขบำบัด โกลเดนรีทรีฟเวอร์ ไปเป็นเพื่อนเด็กมีความบกพร่องทางอารมณ์ สุนัขเข้าหาเด็ก นอนใช้หัววางบนตักเด็ก ผ่านไปพักหนึ่ง เด็กเริ่มตบหัวสุนัขเบาๆ และแสดงอาการผ่อนคลาย ตามด้วยระดับความดันโลหิตลดลง
มีอีกหนึ่งงานวิจัยระบุว่า สัตว์เลี้ยงไม่เพียงช่วยให้เด็กผ่อนคลายความเครียด แต่สามารถช่วยผู้รักสัตว์ในเรื่องนี้ได้ทุกเพศวัย เมื่อรู้สึกเครียดให้เข้าไปเล่นกับหมาหรือแมว หรือสัตว์อื่นที่เลี้ยงไว้ จะช่วยคลายเครียดได้ไม่มากก็น้อย อีกแม่ไม้หนึ่ง ได้แก่ ช่วยให้เด็กอ่านหนังสือได้ ผู้ศึกษาเรื่องนี้ระบุว่า เด็กเล็กส่วนใหญ่อายการอ่านออกเสียง เนื่องจากไม่มั่นใจว่าออกเสียงถูกต้องหรือไม่ วิธีแก้ปัญหาคือ นำสัตว์เลี้ยงมาใกล้ๆกับเด็ก แล้วให้ผู้ใหญ่อ่านหนังสือให้เสียงดังฟังชัดให้สัตว์เลี้ยงฟัง อ่านไปเรื่อยๆเด็กจะเริ่มคุ้นเคย ในที่สุดเด็กจะกล้าออกเสียงอย่างไม่กลัวผิด
ประเด็นสุดท้าย ได้แก่ช่วยรองรับการปรับทุกข์ของเด็ก แรนดอล แบชแมน ที่ปรึกษาประจำโรงเรียนระดับประ ถมศึกษาเมืองไร รัฐนิวแฮมป์เชียร์ สหรัฐ ระบุไว้ในงานวิจัยว่า เด็กส่วนใหญ่เมื่อมีปัญหา จะปรับทุกข์กับสัตว์เลี้ยงเป็นลำดับแรกสะท้อนถึงความไว้วางใจสัตว์เลี้ยงมากกว่าไว้วางใจผู้ใหญ่ ทั้งนี้ เป็นธรรมชาติของเด็กส่วนใหญ่ที่หวั่นผู้ใหญ่ตำหนิ จึงไม่กล้านำปัญหาไปปรึกษา
ดูสาระที่ระบุทั้งหมดแล้ว เป็นเรื่องพื้นๆไม่มีอะไรซับซ้อน ทำให้พ่อแม่ส่วนหนึ่งมองข้ามประโยชน์ที่ซ่อนอยู่ ผู้ศึกษาเรื่องนี้แนะว่า สิ่งที่เอ่ยถึงทั้งหมด ควรฝึกกับเด็กเล็กจึงจะได้ผลดี แต่มีการติงไว้ว่า สัตว์เลี้ยงไม่ใช่คำตอบหนึ่งเดียวสำหรับการสอนเด็กเล็ก โดยเป็นตัวช่วยหนึ่งที่น่าสนใจเท่านั้น
ที่มา : เว็บไซต์กรมสุขภาพจิต
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต