ผู้ป่วยสมองเสื่อมกับการรับประทานอาหารนั้น เป็นเรื่องสำคัญ เพราะหากดูแลใส่ใจอย่างถูกต้องแล้ว จะช่วยลดปัญหาการดูแลไปได้มากทีเดียว

 

โดยทั่วไป ผู้ป่วยสมองเสื่อมมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะขาดอาหาร สาเหตุอาจเกิดจากความจำ ความสามารถในการประกอบอาหารลดลง การกลืนที่ผิดปกติ รวมทั้งปัญหาเรื่องพฤติกรรมและอารมณ์ ทั้งนี้ ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีปัญหาในการรับประทานที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับสาเหตุและระยะของภาวะสมองเสื่อมรวมถึงโรคร่วมที่เป็น

คุณหมอชโลบล แนะนำว่า อาหารที่เหมาะกับผู้ป่วยสมองเสื่อม ควรมีพลังงาน โปรตีน แร่ธาตุและวิตามินเพียงพอในแต่ละวัน มีสีสันสวยงาม มีผักผลไม้รับประทานกันท้องผูก แต่อาหารที่มีไขมันมากนั้น ควรรับประทานแต่น้อย

ในผู้ป่วยที่ไม่มีปัญหาโรคหัวใจหรือโรคไต ควรดื่มน้ำให้เพียงพอหรือประมาณ 6-8 แก้วต่อวัน และเนื่องจากผู้ป่วยสมองเสื่อมมีแนวโน้มที่จะรับประทานอาหารช้าและรับประทานอาหารในแต่ละมื้อได้น้อยกว่าคนทั่วไป จึงอาจแนะนำให้ผู้ป่วยรับประทานของว่างเล็กน้อย หรือผลไม้ในช่วงบ่ายของแต่ละวัน

ในรายที่มีปัญหาการกลืน ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินความสามารถในการรับประทานอาหาร เนื่องจากการกลืนที่ผิดปกติ หรือสำลักระหว่างรับประทานอาหารนั้น อาจก่อให้เกิดผลเสีย เช่น ปอดอักเสบจากการสำลัก นอกจากนี้ บรรยากาศในการรับประทานอาหาร ควรเป็นบรรยากาศที่มีความสุข ผ่อนคลาย มีสมาชิกในครอบครัวอยู่พร้อมหน้า

สำหรับการจัดโต๊ะอาหารหรือที่นั่งรับประทานอาหารนั้น ผู้ดูแลผู้ป่วยสมองเสื่อมควรต้องปรับการดูแลให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเป็นรายๆ เช่น บางรายอาจชอบรับประทานอาหารเดิมๆ ที่คุ้นเคย บางรายอาจชอบรับประทานอาหารนอกสถานที่ เป็นต้น แต่ในรายที่ไม่สามารถตักอาหารเข้าปากเองได้นั้น ผู้ดูแลควรปรับอาหารให้ขนาดพอคำก่อนป้อนอาหารช้าๆ

อย่างไรก็ดี การดูแลเรื่องอาหารการกินในผู้ป่วยสมองเสื่อม เราควรส่งเสริมให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารเองให้มากที่สุดและทำเองได้นานที่สุด โดยให้ผู้ป่วยเป็นผู้เลือกรายการอาหารที่ชื่นชอบและมีคุณค่าทางอาหารด้วยตัวเอง หากแต่บุคคลในครอบครัวก็เป็นสิ่งสำคัญ เพียงเอาใจใส่สม่ำเสมอ ก็สามารถทำให้ผู้ป่วยเปลี่ยนแปลงและดำเนินชีวิตไปในทางที่ดีได้เช่นกัน

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ASTVผู้จัดการรายวัน โดย อ.พญ.ชโลบล เฉลิมศรี ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม รพ.ศิริราช