การนอนมาก หรือน้อยเกินไป มีผลต่อต่อความเสี่ยงที่จะป่วยเป็นโรคที่เกี่ยวกับหัวใจได้

 

ทีมนักวิจัยจากเกาหลีใต้ นำโดยนายแพทย์คิม ชานวอน รองศาสตราจารย์ประจำโรงพยาบาลกังบุกซัมซุง ในเกาหลีใต้ เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยใหม่เกี่ยวกับการเชื่อมโยงระหว่างการนอนหลับและโรคหัวใจ พบว่าทั้งคนที่ใช้เวลานอนนานเกินไปและผู้ที่นอนน้อยเกินไปต่างก็เสี่ยงเป็นโรคหัวใจเพิ่มมากขึ้นเหมือนกัน

นายแพทย์คิมระบุว่า นัยสำคัญของการศึกษาครั้งนี้คือเป็นการศึกษาในกลุ่มตัวอย่างที่มีสุขภาพแข็งแรงทั้งหญิงและชายเพื่อค้นหาสิ่งที่เป็นตัวก่อเหตุให้เกิดโรคหัวใจก่อนที่จะเกิดอาการที่เกี่ยวเนื่องกับหัวใจขึ้นจริงทั้งนี้ ทีมวิจัยใช้กลุ่มตัวอย่างในการศึกษามากกว่า 47,000 คน ซึ่งอยู่ในวัยหนุ่มสาวและวัยกลางคน ทั้งหมดถูกขอให้บ่งบอกถึงสภาพการนอนของตัวเอง โดยทีมวิจัยตรวจสอบข้อมูลจากการตรวจสุขภาพเพื่อดูปริมาณของแคลเซียมในหลอดเลือดของกลุ่มตัวอย่าง 29,000 คน และตรวจสภาพความแข็งกรอบของหลอดเลือดของกลุ่มตัวอย่างอีก 18,000 คน

ผลการวิจัยครั้งนี้ แสดงให้เห็นว่า ผู้ใหญ่ทั้งชายและหญิงที่นอนหลับเกินกว่า 9 ชั่วโมงขึ้นไปต่อคืน จะมีแคลเซียมในผนังเส้นเลือดและเส้นเลือดมีความแข็งกรอบมากกว่าผู้ที่นอนหลับในระดับ 7 ชั่วโมงต่อคืน ซึ่งแคลเซียมเกาะผนังหลอดเลือดและความแข็งกรอบของเส้นเลือดเป็น 2 ปัจจัยที่ทำให้บุคคลนั้นๆ มีความเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคใดโรคหนึ่งที่เกี่ยวเนื่องกับหัวใจได้สูงในอนาคต  ในเวลาเดียวกัน คนที่นอนหลับคืนละ 5 ชั่วโมงหรือน้อยกว่า ก็แสดงให้เห็นความเสี่ยงทั้ง 2 ปัจจัยสูงขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม นายแพทย์คิมระบุว่า นอกเหนือจากการนอนหลับให้เพียงพอแล้ว คุณภาพในการนอนก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมความต้องการระยะเวลาในการนอนของคนเราไม่เท่ากัน บางคนรู้สึกว่านอนเต็มอิ่มทั้งๆ ที่ใช้เวลานอนเพียง 6 ชั่วโมงก็เป็นได้

นอกจากนั้น งานวิจัยนี้ยังไม่ได้คำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ อาทิ ภาวะซึมเศร้า หรือภาวะโรคอ้วน ซึ่งมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงเช่นเดียวกัน

 

 

ที่มา : มติชนออนไลน์