อาการไอ เป็นการขับลมผ่านสายเสียงที่ปิด เป็นกลไกการตอบสนองของร่างกายอย่างหนึ่งต่อสิ่งผิดปกติในทางเดินหายใจ และยังเป็นกลไกป้องกันที่สำคัญของร่างกายในการกำจัดเชื้อโรค เสมหะ หรือสิ่งแปลกปลอมในทางเดินหายใจ

อาการไอจะเกิดขึ้นได้ต้องมีสิ่งกระตุ้นที่ตัวรับสัญญาณการไอก่อน ซึ่งตัวรับสัญญาณการไอในร่างกายของเรามีตั้งแต่ ช่องหู เยื่อบุแก้วหู จมูก โพรงจมูก ไซนัส คอหอย กล่องเสียง หลอดลม ปอด กะบังลม เยื่อหุ้มปอด เยื่อหุ้มหัวใจ และกระเพาะอาหาร จากนั้นจึงส่งสัญญาณไปที่ศูนย์ควบคุมการไอในสมอง ซึ่งจะส่งสัญญาณต่อไปที่กล้ามเนื้อและอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการไอ เช่น กล้ามเนื้อกะบังลม กล้ามเนื้อซี่โครง กล้ามเนื้อท้อง กล้ามเนื้อกล่องเสียง และกล้ามเนื้อหลอดลม ทำให้เกิดกระบวนการไอขึ้น

อาการไอแบ่งได้เป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่ ไอเฉียบพลัน คือ มีอาการไอน้อยกว่า 8 สัปดาห์ และไอเรื้อรัง คือ มีอาการไอมากกว่า 8 สัปดาห์

อาการไอเฉียบพลัน ส่วนใหญ่เกิดจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน (เช่น หวัด ไซนัสอักเสบเฉียบพลัน คออักเสบ กล่องเสียงอักเสบ) หลอดลมอักเสบ อาการกำเริบของถุงลมโป่งพอง ปอดอักเสบ การมีสิ่งแปลกปลอมในช่องหู จมูก หลอดลม หรือการสัมผัสกับสารระคายเคืองในสิ่งแวดล้อม เช่น ควันบุหรี่ แก๊ส กลิ่นสเปรย์ ควันไฟ และมลพิษทางอากาศ เป็นต้น

ในขณะที่ไอเรื้อรัง เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังแล้วมีน้ำมูกไหลลงคอ การใช้เสียงมากทำให้เกิดสายเสียงอักเสบเรื้อรัง เนื้องอกบริเวณคอ กล่องเสียง หรือหลอดลม กรดไหลย้อน หลอดลมอักเสบเรื้อรัง หืด วัณโรคปอด การรับประทานยารักษาความดันโลหิตสูงชนิด angiotensin converting enzyme inhibitor (ACE-I) เป็นระยะเวลานาน และโรคของสมองส่วนที่ควบคุมการไอ เป็นต้น

สาเหตุที่พบส่วนใหญ่ของผู้ป่วยที่แข็งแรงดีมาก่อน ไม่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง ไม่สูบบุหรี่ ไม่รับประทานยารักษาความดันโลหิตสูงชนิด ACE-I และมีภาพรังสีทรวงอกปกติ มักเกิดจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือโรคไซนัสอักเสบเรื้อรังแล้วมีน้ำมูกไหลลงคอ โรคหืด และโรคกรดไหลย้อน

การรักษาอาการไอที่สำคัญที่สุด คือ การหาสาเหตุของอาการไอและรักษาตามสาเหตุ การรับประทานแต่ยาแก้ไอหรือยาขยายหลอดลมเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ อาการไออาจบรรเทาลงเมื่อใช้ยาแก้ไอ แต่ถ้าสาเหตุยังไม่ได้รับการแก้ไข เมื่อหยุดใช้ยาก็ต้องกลับมาไอเหมือนเดิม

แม้ว่าการใช้ยาบรรเทาอาการไอจะเป็นการรักษาที่ปลายเหตุ แต่บางครั้งก็มีความจำเป็น เนื่องจากอาการไอรบกวนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก แพทย์จะใช้ยาลดหรือระงับอาการไอ (เช่น dextrometrophan, codeine) ในผู้ป่วยที่ไอแห้ง ๆ ไม่มีเสมหะ เพราะถ้ากดอาการไอมาก ๆ โดยเฉพาะในเด็ก เสมหะอาจอุดตันหลอดลม ทำให้ไอมากขึ้น ใช้ยาขับเสมหะ (เช่น potassium guaiacol sulphonate, terpin hydrate, ammonium chloride)ในผู้ป่วยที่ไอแบบมีเสมหะ ใช้ยาละลายเสมหะ (เช่น ambroxol hydrochloride, bromhexine, carbocysteine)ในผู้ป่วยที่ไอแบบมีเสมหะ บางครั้งนิยมใช้ร่วมกับยาขับเสมหะ อย่างไรก็ตามยาละลายเสมหะที่ดีที่สุดก็คือ “น้ำเปล่า” นั่นเอง

อาการไอเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งจากโรคไม่ร้ายแรง เช่น หวัด คออักเสบ หรือหลอดลมอักเสบ และโรคร้ายแรง เช่น ปอดอักเสบ เนื้องอกบริเวณลำคอ กล่องเสียง หรือหลอดลม ดังนั้นหากได้รับการรักษาเบื้องต้นแล้วอาการไอไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์

ข้อมูลโดย รศ. นพ. ปารยะ อาศนะเสน ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล

 

ที่มา : เว็บไซต์ ASTV ผู้จัดการออนไลน์