จะดีกว่าไหม ถ้าคุณรู้ว่าเป้าหมายในชีวิตของตนเองคืออะไร และสามารถวางแผนเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายนั้นได้พร้อมกับเข้าใจตนเองและสร้าง ความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้อื่นไปด้วยกัน

 

หนูดี-วนิษา เรซ ผู้เชี่ยวชาญด้านอัจฉริยภาพ  และขุนเขา-สินธุเสน เขจรบุตร นักจิตวิทยาพัฒนาสมอง ร่วมแนะนำเทคนิคพัฒนาศักยภาพจากภายในทั้งด้านการงาน การเงิน การตั้งเป้าหมายชีวิต พร้อมบอกเคล็ดลับการสื่อสารอย่างมีศิลปะด้วยวิธีง่ายๆ เพียงสูดลมหายใจลึกๆ แล้วเริ่มต้นทำได้เลย

1.เข้าใจตนเอง ต้องหาสิ่งที่กลัว สิ่งที่ชอบ สิ่งที่เก่ง และสิ่งที่จะมีคนจ่ายเงินให้เราทำ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ต้องรู้ว่าแท้จริงแล้วสิ่งไหนที่ไม่ใช่ตัวเรามากที่สุด

2.ชีวิตจะเริ่มต้น เมื่อหมดข้ออ้าง ลบคำว่า “ถ้า” ออกไปจากชีวิตด้วยการสร้างวินัยให้ตนเอง ปรับนิสัยที่ทำให้ชีวิตย่ำอยู่กับที่ อย่างการนอนดึกหรือติดโซเชียลมีเดีย หากอยากทำอะไรให้วางแผนให้ดี และที่สำคัญต้องหมั่นเติมความตั้งใจและกำลังใจจากภายในด้วย

3.เพิ่มพูนความฉลาด อัจฉริยภาพของมนุษย์มี 8 ด้าน ได้แก่ ความฉลาดด้านภาษาและการสื่อสาร, ความฉลาดด้านตรรกะและคณิตศาสตร์, ความฉลาดด้านธรรมชาติ, ความฉลาดด้านมิติสัมพันธ์และการจินตภาพ, ความฉลาดด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว, ความฉลาดด้านดนตรีและจังหวะ, ความฉลาดด้านการเข้าใจผู้อื่น และความฉลาดด้านการเข้าใจตนเอง โดยเราต้องเลือกด้านที่ไม่เก่งที่สุดมาพัฒนาตนเอง

4.ออมก่อนใช้ แบ่งเงินเป็นส่วนๆ ดังนี้ เงินออม, ลงทุน, การศึกษา, สุขภาพ, ประกันชีวิต, ท่องเที่ยว, หนี้สิน, ภาษี, เกษียณ และทำบุญ

5.ฟังอย่างเข้าถึง การฟังมี 3 ระดับ คือ ฟังเข้าหู รู้ว่าอีกฝ่ายจะพูดอะไร ฟังให้เข้าใจ รู้ว่าอีกฝ่ายรู้สึกอย่างไร และฟังให้เข้าถึง รู้ว่าอีกฝ่ายต้องการอะไร การฟังอย่างเข้าถึงคือการฟังแบบไม่ตัดสิน ฟังสิ่งที่เขาเป็นจริงๆ ไม่ใช่ฟังแค่สิ่งที่เขาพูดและมีอายคอนแท็กต์เพื่อเป็นการสร้างสะพานเชื่อมใจ ถึงใจ

6.ใส่ความเป็นมนุษย์ลงไปเมื่อพูดกับใครสักคน การพูดกับผู้อื่นด้วยจุดอ่อนของตนเองจะทำให้เขาสนิทใจกับเรามากขึ้น เพราะรูโหว่ในจิตใจของเราทำให้สามารถเชื่อมใจกับคนอื่นได้ เช่น หากอาจารย์เปิดคลาสด้วยการบอกว่า เป็นคนเรียนไม่เก่ง นักเรียนก็จะสนใจฟังสิ่งที่อาจารย์กำลังสอน เพราะอยากรู้ว่าคนที่เรียนไม่เก่งมาเป็นอาจารย์ได้อย่างไร โดยมีผลวิจัยออกมาว่า เราจะชอบคนที่คุยด้วย 55% เพราะภาษากาย 38% เพราะน้ำเสียง และอีก 7% เพราะคำพูด ดังนั้น “อย่าพูดให้เปลี่ยน แต่ต้องทำให้เห็น”

นับเป็นข้อคิดที่กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาตนเองอย่างรอบด้าน หากนำไปประยุกต์ใช้กับตนเองอย่างเหมาะสม

 

 

ที่มา : thaihealth