ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

 

ยุคนี้ถือเป็นยุคที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่กับ "สังคมออนไลน์" หรือโซเชียลมีเดียมากขึ้นเรื่อยๆ ผ่านเฟซบุ๊ก ไลน์ อินสตาแกรม ทวิตเตอร์

ทั้งหมดล้วนเชื่อมให้ผู้คนจากที่ต่างๆ สามารถสื่อสารพูดคุยกันได้ง่าย และรวดเร็วขึ้น นอกจากจะใช้ติดต่อพูดคุยกันทั่วไปแล้ว โซเชียลมีเดียยังกลายเป็น "ตลาดออนไลน์" ที่เปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถเป็นพ่อค้า-แม่ค้าเปิดร้านค้าขายของผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้ง่ายดาย ลงทุนน้อย แต่เข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างมากมายมหาศาล 

สินค้าหนึ่งที่เติบโตอย่างรวดเร็วในยุคตลาดออนไลน์ คือ สินค้ากลุ่มความสวยงาม โดยเฉพาะครีมต่างๆ ที่มักอ้างสรรพคุณโอเวอร์สุดกู่ เช่น ทาแล้วขาวสวยทันตา ขาวสว่างใสชนิดที่เห็นแล้วจะต้องตกใจ ซึ่งเดิมการผลิตหรือขายเครื่องสำอางไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากจะต้องคิดสูตรขึ้นมา ยังต้องนำสูตรไปขออนุญาตจดแจ้งกับทาง อย.ให้ตรวจสอบก่อนว่าปลอดภัย ไม่ใช้สารต้องห้าม เมื่อ อย.อนุญาตให้ผ่านก็จะได้เลขที่จดแจ้ง นำไปผลิตสร้างแบรนด์สร้างแพ็กเกจวางจำหน่ายได้

แต่เดี๋ยวนี้แม่ค้าขายครีมตามเฟซบุ๊กไม่ต้องยุ่งยากแล้ว เพราะปัจจุบันมีร้านค้าที่รับผลิตให้ทุกอย่าง มีครีมสูตรต่างๆ ไว้ให้เลือก พร้อมอ้างว่ามีเลขที่จดแจ้งของ อย.เรียบร้อย แถมรับออกแบบแพ็กเกจ ออกแบบฉลากโลโก้ เรียกว่าทำให้ครบวงจร ด้วยสนนราคาแค่ไม่กี่พันบาท

ภก.ภาณุโชติ ทองยัง เภสัชกรชำนาญการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม ได้ให้คำแนะนำในการเลือกซื้อครีมผ่านโซเชียลมีเดียเอาไว้ดังนี้ 1.อย่าตัดสินใจซื้อเพียงเพราะฉลากสวยงาม หรือเชื่อโฆษณา ต้องศึกษาข้อมูลของผลิตภัณฑ์ให้ครบถ้วน 2.ต้องจำไว้ว่าเครื่องสำอางมุ่งใช้กับส่วนภายนอกร่างกาย ไม่สามารถใช้รักษาโรคหรือเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของร่างกายได้ 3.โฆษณาที่สามารถใช้เทคนิคปรับแต่งได้ โฆษณาที่พูดโอ้อวดสรรพคุณจนดูเกินจริง ยิ่งมีแนวโน้มหลอกลวง และ 4.ตรวจข้อมูลผลิตภัณฑ์จากแหล่งต่างๆ เช่น เว็บไซต์เตือนภัยสุขภาพของกรมวิทยาศาสตร์ฯ เว็บไซต์ของ อย. และผ่านการรับรองแล้ว

 

ที่มา : thaihealth