ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวน่าสลดใจ ที่นักเรียนสาวชั้น ม.5 เสียชีวิต โดยคาดว่าสาเหตุมาจากการกินยาลดความอ้วน เดี๋ยวนี้ยาอันตรายแบบนี้แทรกซึมเข้าไปถึงกลุ่มเด็กวัยรุ่นอย่างง่ายดาย ผ่านการสั่งซื้อทางโซเชียลมีเดีย หลุดรอดจากการตรวจสอบของหน่วยงานภาครัฐ
กระแสในยุคนี้ยึดติดว่า ความผอม ความขาว คือค่านิยมของผู้หญิงสวย แต่ต้องแลกกับความเสี่ยงอันตรายต่อสุขภาพ การจำหน่ายผิดกฎหมาย โดยใช้การโฆษณาที่โอ้อวดเกินจริง
"นิตยสารฉลาดซื้อ" เคยทำการสำรวจ "รูปแบบการจ่ายยาลดน้ำหนัก" ของคลินิกบริการลดความอ้วน มีตัวยาที่คลินิกเหล่านี้จ่ายให้ 7 กลุ่ม
1.กลุ่มยาที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทส่วนกลาง เป็นยาที่จะไปควบคุมความอยากอาหาร ส่วนใหญ่จะเป็นตัวยาที่ชื่อ ไซบูทรามีน ซึ่งเป็นยาที่ อย.ถอนทะเบียนออกไปแล้ว ห้ามใช้เด็ดขาดมีผลข้างเคียงรุนแรง
2.กลุ่มยาระบาย เป็นตัวกระตุ้นลำไส้ใหญ่ให้บีบตัวทำให้ถ่ายมากและบ่อยขึ้น ทำให้ผู้ใช้ยารู้สึกเหมือนว่าตัวเองน้ำหนักลดลง แต่ยาระบายไม่ได้มีผลต่อการลดความอ้วน
3.กลุ่มยาขับปัสสาวะ ยาขับปัสสาวะก็เหมือนกับกลุ่มยาระบาย ไม่ได้เป็นยาที่มีผลต่อการลดน้าหนัก แถมถ้ากินโดยไม่จำเป็นจะทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ร่างกายอ่อนเพลีย
4.กลุ่มยาลดการหลั่งของกรดในกระเพาะ ยานี้ไม่ได้มีผลใดๆ ต่อการลดน้ำหนัก แต่ใช้เพื่อลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการใช้ยาลดความอยากอาหาร
5.กลุ่มยาไทรอยด์ ฮอร์โมน เป็นยาเพิ่มการเผาผลาญพลังงานในร่างกาย น้ำหนักจึงลดลงอย่างรวดเร็ว แต่น้ำหนักที่ลดเป็นน้ำหนักจากมวลรวมของร่างกาย จึงเป็นอันตรายต่อร่างกาย
6.กลุ่มยาลดอาการใจสั่น ปกติเป็นยาที่ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง ที่ถูกจัดมาอยู่ในชุดยาลดความอ้วน เพราะจะมาช่วยลดอาการใจสั่นจากความอยากอาหาร ผลข้างเคียงทำให้อ่อนเพลีย
7.กลุ่มยาที่มีฤทธิ์ข้างเคียงทำให้ง่วงนอน ทำให้ลดความอยากอาหารมีฤทธิ์ต่อจิตและประสาท
ที่มา : thaihealth