เรื่องโดย : รศ.ทพ.พรชัย จันศิษย์ยานนท์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ที่มา : เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ
เมื่อผู้ป่วยสูญเสียฟันธรรมชาติ มักจำเป็นต้องใส่ฟันทดแทน ซึ่งมีได้หลากหลายวิธี ได้แก่ ใส่ฟันถอดได้ ใส่ฟันแบบสะพานฟัน และ ใส่รากฟันเทียม
สำหรับการใส่รากฟันเทียมนั้น เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการทดแทนฟันธรรมชาติที่สูญเสียไป โดยมีหลายวิธี เช่น ถอนฟันแล้วใส่รากฟันทันที หรือ ใส่รากฟันเทียมแบบการทำศัลยกรรมแบบขั้นตอนเดียว หรือ สองขั้นตอน (ใส่รากเทียมแล้วฝังอยู่ใต้เหงือก และ ต้องกลับมาเปิดผ่าตัดอีก 1 ครั้ง) ซึ่งมักใช้ในกรณีที่มีการปลูกกระดูก เช่น ฟันหน้าบน เป็นต้น หรือ การผ่าตัดโดยไม่เปิดเหงือกกว้าง หรือ การผ่าตัดโดยการใช้เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์มาช่วย เป็นต้น
เมื่อใส่รากเทียมแล้วมักจะต้องรอประมาณ 2-3 เดือน ก่อนที่จะเริ่มใส่ฟันปลอบบนรากฟันเทียม ซึ่งต้องใช้เวลาในการใส่ฟันประมาณ 1-3 สัปดาห์ เมื่อผู้ป่วยใส่ฟันแล้วก็จะสามารถใช้งานได้เหมือนฟันธรรมชาติ
วัสดุที่นำมาทำรากฟันเทียม คือ "ไทเทเนียม" ซึ่งจะไม่มีโอกาสผุเหมือนฟันธรรมชาติ สำหรับวัสดุที่ทำครอบฟันก็จะเป็นโลหะอย่างดี ร่วมกับ พอร์ซเลน หรือวัสดุที่ใกล้เคียงกัน ตัวครอบฟันบนรากเทียมอาจเกิดการแตกหักได้ แต่ทันตแพทย์ก็สามารถแก้ไขได้โดยไม่ต้องนำรากฟันเทียมออก
แต่สิ่งที่ผู้ป่วยที่ได้รับการใส่รากฟันเทียมควรทราบก็คือ รากฟันเทียมอาจเสียได้ ถ้าไม่รักษาความสะอาดรากฟันเทียมให้ถูกต้อง
การดูแลรักษารากฟันเทียมจะเหมือนกับการดูแลฟันธรรมชาติ ซึ่งทำได้โดยการแปรงฟันให้ถูกวิธี (ใช้แปรงขนนิ่ม และ เน้นการทำความสะอาดบริเวณคอฟัน) ร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันอย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ก่อนนอน การใช้ไหมขัดฟันเป็นสิ่งที่จำเป็น เนื่องจากการแปรงฟันอย่างเดียวไม่สามารถทำความสะอาดบริเวณที่ฟันติดกันได้ ถ้าเราไม่ทำความสะอาดให้ถูกวิธี รากฟันเทียมจะมีคราบจุลินทรีย์ไปเกาะ และเชื้อโรคที่อยู่ในนั้นก็จะปล่อยกรดออกมาทำลายกระดูก และ เหงือก เมื่อกระดูกถูกทำลายมากขึ้นก็จะทำให้รากเทียม มีเลือดออก โยก ปวด และ อาจต้องนำรากเทียมออก
ดังนั้น เราควรให้ความสำคัญกับการดูแลรักษารากฟันเทียม โดยการแปรงฟันร่วมกับการใช้ไหมขัดฟันที่ถูกวิธี เพื่อให้รากฟันเทียมอยู่กับคุณตลอดไป
ที่มา : thaihealth