ในชีวิตจริง ในความเป็นจริงอาชีพหรือการทำงานเป็นกิจกรรมสร้างรายได้ เพื่อการดำรงชีวิตที่อยู่คู่สังคมมนุษย์มายาวนานและเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย

 

สำหรับปัจจุบันสังคมมีการบริโภควัตถุสำเร็จรูป หรือการบริการแบบครบวงจรมากขึ้น ทำให้ต้องใช้เงินเพื่อแลกเปลี่ยนสินค้าหรือบริการมากขึ้นเป็นเงาตามตัว รายได้จึงมีแนวโน้มที่จะได้รับความสนใจ หรือให้ความสำคัญมากกว่าอาชีพในบางอาชีพและมีบุคคลอีกจำนวนไม่น้อยที่มีงานสำรองเพื่อหารายได้พิเศษเพิ่มขึ้น จากงานประจำหรืออาชีพหลัก ซึ่งบางรายอาจจะมีรายได้จากงานรองมากกว่างานหลักด้วยซ้ำไป จะเห็นได้ว่า งานนอกจากมีความสำคัญในแง่ของแหล่งก่อให้เกิดรายได้แล้ว ยังเป็นเครื่องชี้วัดสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ หรือ สุขภาวะทางเศรษฐกิจ (Economical health) ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่จะทำให้ชีวิตมีความสุข (happiness) ดังนั้น การที่จะทำงานให้เกิดผลสำเร็จอย่างมีคุณภาพและประสิทธิภาพ จึงน่าจะต้องมีวิธีบริหารจัดการที่เหมาะสม ดังนี้

          1.ความขยัน เป็นพลังขับเคลื่อนหรือปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ผลงานสำเร็จอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะต้องมีอย่างสม่ำเสมอ ต่อเนื่องและเหมาะสมกับวัยหรือสภาพร่างกาย ไม่ควรขยันหรือหักโหมมากจนมีผลกระทบต่อสภาพร่างกาย จิตใจ ครอบครัว สังคม หรือ สิ่งแวดล้อมทั้งของตนและผู้เกี่ยวข้อง จึงจะเป็นความขยันที่มีประโยชน์และไม่เกิดโทษติดตามมาภายหลัง นอกจากนี้ความขยันที่ดียังจะต้องให้มีความเหมาะสมกับเวลา สถานที่ หน้าที่หลัก หน้าที่รอง หรือปัจจัยร่วมอื่นๆ

          2.ความตั้งใจ เป็นหัวใจสำคัญของคุณภาพและประสิทธิภาพของงาน ซึ่งเริ่มจากการมีความตั้งใจศึกษาค้นคว้าวิชาความรู้ และทำความเข้าใจให้ลึกซึ้งถึงหลักการ รายละเอียด วิธีการ เหตุผล ความเหมาะสม กลเม็ดหรือเคล็ดลับ ตลอดจนการพยายามฝึกฝนจนเกิดทักษะ ความชำนาญหรือความเชี่ยวชาญที่เกี่ยวกับงานที่รับผิดชอบ สิ่งเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยทำให้เกิดผลสัมฤทธิ์ของงานได้เป็นอย่างดี

          3.ความโปร่งใส หมายถึงการที่สามารถรับรู้ เข้าถึง ตรวจสอบหรือทบทวนข้อมูลในหน่วยงานได้อย่างสะดวกและถูกต้อง ซึ่งเป็นหัวใจของความซื่อสัตย์และสุจริตของการทำงานร่วมกัน ที่จะต้องให้ความสำคัญทุกระดับ ทั้งระดับผู้บริหาร ระดับปฏิบัติการ และผู้เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานที่มีผู้รับผิดชอบรวมกันหลายฝ่าย ทั้งนี้เพื่อให้มีความสบายใจ ไว้วางใจ ไม่หวาดระแวง หรือเกิดความเครียด ระหว่างผู้ร่วมงาน อันจะเป็นผลดีต่อการดำเนินงานของระบบงาน หน่วยงาน และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด ทำให้องค์กรเกิดความมั่นคงและยั่งยืน

 

 

          ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง โดย นพ.สุรพงศ์ อำพันวงษ์ ข้อมูลจาก น.พ.นารายณ์ ธีรังกร โรงพยาบาลรัตภูมิ จ.สงขลา ข่าวสารกรมสุขภาพจิต