ไม่น่าเชื่อว่าการหายใจที่คนเราทำโดยอัตโนมัติอยู่นี้จะทำให้ชีวิตมีความสุขขึ้น

 

นักจิตวิทยา วิลเลียม เจมส์ เชื่อว่าเราไม่ได้ร้องไห้เพราะเศร้า แต่เรารู้สึกเศร้าเพราะร้องไห้ เขาจึงทำการทดลองหัวข้อ การหายใจส่งผลต่ออารมณ์พื้นฐาน โดยให้อาสาสมัครจากมหาวิทยาลัยแห่งควิเบก และมหาวิทยาลัยแห่งลูเวน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 ขอให้สร้างอารมณ์สุข โกรธ กลัว และเศร้า ขึ้นมาจากความทรงจำหรือจินตนาการ แล้ววิเคราะห์ลักษณะการหายใจของแต่ละความรู้สึกนั้น ทั้งความเร็วของการหายใจเข้า-ออก ตำแหน่งของปอด และปริมาณออกซิเจนที่เข้าไป

สรุปมาเป็นวิธีการหายใจแบบต่างๆ จากนั้นนำวิธีการไปทดลองต่อยังกลุ่มที่ 2 ใช้เวลาทดลองรูปแบบการหายใจละ 45 นาที ออกมาตอบแบบสอบถามว่าขณะนั้นรู้สึกอย่างไร ซึ่งผลที่ได้มีความแปรปรวนแต่ก็สามารถจัดแพตเทิร์นของการหายใจได้ 4 แบบตามอารมณ์สุข โกรธ กลัว และเศร้า

เมื่อเศร้าเราจะถอนหายใจบ่อย เมื่อโกรธจะหายใจเร็ว เมื่อกลัวจะหายใจตื้นเหมือนว่าสูดลมหายใจเข้าไม่เต็มปอด และเมื่อมีความสุขจะหายใจเป็นปกติและผ่อนคลาย ดังนั้นหากรู้ว่าตอนนั้นเกิดความรู้สึกอะไร ให้กำหนดลมหายใจเพื่อสยบความรู้สึกด้านลบ

เจมส์ แนะนำ 2 ทาง คือ แบบระยะสั้น หรือจัดการลมหายใจขณะนั้น หากรู้สึกเป็นกังวลให้หายใจเข้าลึกๆ สูดลมเข้าไปในท้องช้าๆ จะช่วยให้ความกังวล ความกลัว และความโกรธ แต่หากเศร้าจนอยากร้องไห้ ให้รีบกลืนอากาศเข้าไปและหายใจโดยใช้ท้อง หายใจเข้าท้องป่อง หายใจออกท้องแฟ่บ มันจะช่วยให้ไม่ร้องไห้ออกมา และทางที่ 2 แบบระยะยาว คือ ฝึกหายใจแบบมีความสุข หายใจเข้า-ออกลึกๆ ในจังหวะที่เป็นปกติ และควบคุมอารมณ์ไว้ ซึ่งควรฝึกอยู่เสมอในชีวิตประจำวัน

มองดูแล้วหลักของเจมส์ก็เหมือนหลักอานาปานสติของพุทธศาสนา เพียงกำหนดลมหายใจเข้าออกก็ทำให้เกิดสติ จากนั้นปัญญาก็จะตามมา และชีวิตก็จะเป็นสุขเช่นนั้นเอง

 

 

ที่มา : เว็บไซต์ประชาชาติธุรกิจ

ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต